1/5/54
Zz "ดอกบัวจากหัวใจ" zZ
แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ หญิงชราวัย 102 ปี บ้านธาตุน้อย ที่เฝ้ารับเสด็จในหลวง ถวายดอกบัวสามดอกที่เหี่ยวโรย เป็นที่ชาวไทยคุ้นตา และประทับใจในหัวใจเป็นที่สุด ตามที่ท่านเจ้าคุณพระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ให้ความรู้“ ดอกบัวในใจยังคงบานไม่มีโรยรา” บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทางสามแยกชยางกูร- เรณูนคร ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรภาคอีสานเป็นครั้งแรก
แม่เฒ่าไปรอรับเสด็จพร้อมดอกบัวสายสีชมพู จำนวนสามดอก ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แสงแดดแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจความจงรักภักดีของหญิงชรา ยังคงเบิกบาน เมื่อในหลวงเสด็จมาถึง ตรงมาที่แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจนเหนือศีรษะ แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโน้มพระองค์ลงมาจนพระพักตร์เกือบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างอ่อนโยน พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชาวภาคอีสานอย่างนุ่มนวล ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่า แม่เฒ่าไม่มีวันลืมเช่นเดียวกับที่ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น
หลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวัง ได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพาสเตอร์ ผ่านมาทางอำเภอธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่าอายุยืนยาวขึ้นอีกด้วย ความสุขต่อมาอีก 3 ปี เต็ม ๆ โดยแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ถังแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2501 หลังจากนั้นลูกหลานได้สร้างธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ไว้ ณ หน้าบ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 11 ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในบริเวณพื้นที่ 2 งาน โดยยกผืนดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ สมบัติของแผ่นดิน
ภาพที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ทูลเกล้าฯถวายดอกบัวสามดอก ถ่ายโดย อาณัติ บุนนาค ช่างภาพส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ถูกเรียกว่า ภาพดอกไม้แห่งหัวใจ ทำให้ประชาชนชาวไทยทราบซึ้งในพระจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์
"ประเพณีดีเมืองนครพนม"
ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจมาก เพราะบรรพบุรุษได้ยึดถือปำบัติกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีความเชื่อในประเพณีว่า เนื่องจากการบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาการขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์และการบูชาพระเจ้า
ประเพณีไหลเรือไฟ บางทีเรียกว่า ลอยเรือไฟ เป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่นิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ออกพรรษา โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีชัยภูมิเหมาะสม คือ มีแม่น้ำหรือลำน้ำ เช่นเดียวกับจังหวัดนครพนม ที่จัดประเพณีนี้ขึ้นทุกๆปี
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)